โรคภูมิแพ้อาหาร (Food Allergy) ในสุนัขและแนวทางการวินิจฉัย EP.1
- Monthinee Jongjesdakul
- Apr 1
- 2 min read

หากสุนัขมีอาการคันคุณหมอหลาย ๆ ท่าน คงเริ่มแนวทางการวินิจฉัยจากสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้สุนัขคัน ได้เเก่ การติดเชื้อปรสิตภายนอก การติดเชื้อจากแบคทีเรีย หรือการเจริญเติบโตที่มากเกินไปของเชื้อ Malassezia เเละสาเหตุสุดท้าย คือ ภูมิเเพ้ชนิดต่าง ๆ ซึ่งมักจะเป็นปัญหาที่ซ่อนอยู่
โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ผิวหนังจากอาหาร (Food allergy, FA) และ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัข (Canine atopic dermatitis, CAD)

การที่จะเเยกทั้งสองโรคนี้ด้วยการดูอาการทางคลินิคเพียงอย่างเดียวนั้นทำได้ยาก เนื่องจากโรคทั้งสองมีการแสดงอาการที่เหมือนกัน ได้เเก่ คัน ผิวหนังแดง (Erythema) มักจะมีการติดเชื้อที่ผิวหนังซ้ำหรือเป็น ๆ หาย ๆ เเละมีรอยโรคที่เกิดจากการเกา (Excoriation) เป็นต้น
นอกจากนี้ จากกการสำรวจพบว่าสุนัขที่แพ้อาหารที่ส่งผลต่อผิวหนัง 13-30% นั้นอาจเป็น Atopic dermatitis ร่วมด้วยทำให้การวินิจฉัยแยกโรคทั้งสองซับซ้อนมากขึ้นไปอีกระดับ
ในขณะเดียวกันแนวทางการรักษาโรคทั้งสองนั้นกลับเเตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แนวทางการรักษาของ FA นั้นเน้นไปที่การหลีกเลี่ยงอาหารที่สุนัขตัวนั้น ๆ เเพ้ เเต่แนวทางการรักษาของ CAD จะเป็นแบบ Multimodal คือการใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน เช่น การได้รับยาที่สามารถควบคุมอาการคัน - ลดการอักเสบ การเสริม Skin barrier และการป้องกันการติดเชื้อซ้ำ เป็นต้น ดังนั้นจากที่กล่าวมาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการวินิจฉัยแยกโรคเพื่อให้สุนัข ได้รับการรักษาในแนวทางที่ถูกต้อง ก่อนที่จะกล่าวถึงแนวทางการวินิจฉัยแยกโรคทั้งสองนั้น ขอชวนคุณหมอมาทำความรู้จักกับโรคทั้งสองนี้คร่าว ๆ กัน เริ่มต้นด้วยโรค
ภูมิแพ้ผิวหนังจากอาหาร (Food allergy, FA)

การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อส่วนประกอบในอาหารหนึ่ง หรือหลายชนิดจนอาจทำให้เกิดความผิดปกติที่ผิวหนัง หรือทางเดินอาหาร หรือเกิดทั้งสองร่วมกัน โดยเกิดจากการย่อยได้ไม่สมบูรณ์ของโปรตีนซึ่งในสุนัขโปรตีนที่ถูกระบุว่าเป็นสารก่อภูมิเเพ้ทั้งหมดนั้น มีขนาดน้ำหนักโมเลกุลที่ใหญ่กว่า หรือเท่ากับ 20 kDa อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันรับรู้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม เเละส่งผลให้เกิดการแพ้ได้
ซึ่งเเบ่งได้เป็น 2 กลไกของโรคภูมิแพ้อาหารในสุนัข
1) IgE mediated reaction (Type I hypersensitivity)
2) Non-IgE mediated reaction (Type III and/or IV hypersensitivity )
นอกจากโปรตีนที่เป็นสารก่อภูมิแพ้เเล้ว คาร์โบไฮเดรตและไขมันก็อาจจะเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน สารก่อภูมิเเพ้อาหารที่พบได้บ่อย ได้แก่ เนื้อวัว ปลา และเนื้อไก่ ซึ่งสอดคล้องกับส่วนผสมที่พบได้มากใน Commercial pet food
อาการของสุนัขที่มีภาวะภูมิแพ้อาหาร

ได้แก่ อาการคันเเบบไม่สัมพันธ์กับฤดูกาล (Non seasonal pruritus) Erythema, Otitis externa, Excoriation เป็นต้น
อาการคันอาจจะเกิดทั่วทั้งร่างกายหรือบางบริเวณก็ได้ เช่น ใบหน้า ใบหูรอบ ๆ ทวารหนัก รักแร้ขาหนีบ ท้องด้านล่าง หรือแม้แต่การเลียเท้า นอกจากนี้ ยังพบอาการทางระบบทางเดินอาหารได้เช่น การอาเจียนหรือท้องเสีย โดยในสุนัขมักแสดงอาการท้องเสียมากกว่า
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Canine Atopic Dermatitis, CAD) คืออะไร?

Canine atopic dermatitis, CAD
คือโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ที่เกิดจากพันธุกรรมซึ่งจะมีการอักเสบเเละอาการคัน โดยมีลักษณะอาการที่จำเพาะเกี่ยวข้องกับ IgE ที่ตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้จากสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยที่ทำให้เกิด CAD ในสุนัขมีหลายอย่าง ได้แก่
1. ปัจจัยด้านพันธุกรรม เช่น การกลายพันธุ์ของยีนส์ Filaggrin ซึ่งมีความสำคัญในการสร้างเเละค้ำจุนโครงสร้างผิวหนังชั้นนอก
2. ปัจจัยด้านการทำงานของ Skin barrier เช่น ความผิดปกติของ Epidermal lipid barrier ปริมาณของ Ceramide ลดลง ทำให้การกักเก็บน้ำที่ผิวหนังนั้นแย่ลง ส่งผลให้สุนัขที่เป็น AD นั้นมีผิวหนังที่แห้ง เเละติดเชื้อได้ง่าย
3. ปัจจัยด้านภูมิคุ้มกัน เช่น Th2 cells มีปริมาณที่มากกว่า Th1 cells ซึ่ง Th2 หลั่ง IL-4 และ IL-13 ไซโตไคม์ทั้งสองกระตุ้นการผลิต IgE เเละกระตุ้นเม็ดเลือดขาว Eosinophil ทำให้เกิดอาการแพ้ เเละอักเสบ
4. ปัจจัยด้านสารก่อภูมิแพ้และการสัมผัส พบว่า 80% ของ AD นั้นมี IgE ที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น หญ้า พืชบางชนิด ซึ่งมักจะเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสิ่งแวดล้อม เช่น จมูก เท้า เเละใบหู
บทความโดย นายสัตวแพทย์ วรพล พิสิษฐ์พงศ์พัทธ์
โปรดติดตามต่อใน EP.2
ศูนย์โรคผิวหนังและภูมิแพ้ โรงพยาบาลสัตว์ยูเว็ท
เรามีบริการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ต่อผิวหนัง พร้อมคุณหมอประจำศูนย์โรคผิวหนังและภูมิแพ้ ที่จะช่วยวางแผนในการวินิจฉัยและรักษา รวมถึงให้คำแนะนำในการป้องกันปัญหาโรคผิวหนังของเจ้าตัวน้อย อย่างครบวงจร
แหล่งที่มา :
William H. ,Craig E. ,Karen L. Muller&Kirk’s Small Animal Dermatology. 7th edition. Missouri: ELSEVIER ; 2013
Etienne C. ,Stephen J. ,Edward C. Ettinger’s textbook of Veterinary internal medicine. 9 edition. ELSEVIER
Commentaires