top of page
Search

โรคภูมิแพ้อาหาร (Food Allergy) ในสุนัขและแนวทางการวินิจฉัย EP.2

  • Writer: Monthinee Jongjesdakul
    Monthinee Jongjesdakul
  • Apr 8
  • 2 min read

Food Allergy หรือ Atopy แนวทางการวินิจฉัยแยกโรคในสุนัข ep.2 วันนี้ เราจะมาพูดถึงแนวทางการวินิจฉัยกันครับ โดยเนื้อหาจะอ้างอิงมาจาก 2023 AAHA Management of allergic skin diseases in dogs and cats Guidelines มีแผนภาพดังนี้


แนวทางในการประเมินอาการคันของสุนัขเพื่อการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้
แนวทางในการประเมินอาการคันของสุนัขเพื่อการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้

Step 1 : การซักประวัติและการตรวจผิวหนัง


การซักประวัติจะทำให้เราได้รายละเอียดที่สำคัญเกี่ยวกับอาการ รูปแบบการคัน เเละสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยโรคได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการคันกับผู้ปกครองสัตว์ด้วยว่าการเกาไม่ใช่สัญญาณเดียวที่บอกว่าสุนัขคัน การนำ Pruritus scales มาใช้ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราทราบข้อมูลที่เเม่นยำมากขึ้นในการประเมินอาการคัน


การใช้ Pruritus Scales ในการประเมินอาการคันของสุนัขเพื่อการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้
การใช้ Pruritus Scales ในการประเมินอาการคันของสุนัขเพื่อการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้

คำถามที่สัตวแพทย์ควรถามผู้ปกครองสัตว์

1. ในช่วงแรกสุนัขคันที่ไหนบ้าง? ตอนนี้เป็นอย่างไร? มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมหรือไม่? - ปรสิตภายนอกจะมีรูปแบบตำแหน่งการเกาหรือรอยโรคที่สามารถคาดเดาได้


2. คันทั้งปีหรือคันเป็นช่วงๆ?

- เพราะการคันแบบเป็นช่วงๆ มักสอดคล้องถึงการเป็น CAD แต่การคันตลอดทั้งปีอาจเกี่ยวข้องกับ FA หรือ CAD ในรายที่เกิดจากการแพ้สารก่อภูมิแพ้ในอาคารก็ได้


3. เริ่มแสดงอาการคันตอนอายุเท่าไหร่?

- เพราะ FA สามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุ เเต่ CAD มักเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี ดังนั้นหากเกิดอาการคันในสุนัขที่เด็กมากๆ หรือแก่มากๆ อาจจะสงสัยการเกิด FA แต่การติดปรสิตภายนอกก็สามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุ


4. เคยรักษามาก่อนไหม? ผลการรักษาเป็นอย่างไร?

- การไม่ตอบสนองต่อยา Glucocorticoids อาจจะบ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย, Malassezia, ปรสิตภายนอก หรือ Food allergy ในขณะเดียวกัน การไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อดื้อยา ดังนั้นเพื่อประเมินการรักษาควรหลีกเลี่ยงการหยุดยาพร้อมกัน


5. สัตว์ตัวอื่นในบ้านหรือผู้ปกครองมีรอยโรคด้วยไหม?

- หากมีอาจบ่งบอกถึงการติดปรสิตภายนอก เช่น หมัด, Scabies, Cheyletiella


6. มีอาเจียน ถ่ายเหลวหรือนิ่มขึ้น หรือมีแก๊สในทางเดินอาหารร่วมด้วยไหม?

- 19-27% ของสุนัขที่เป็น Food allergy จะมีการแสดงอาการอาเจียน ถ่ายเหลวหรือถ่ายนิ่มขึ้น


Step2 : Dermatologic Physical examination


ควรมีการตรวจร่างกายสุนัขรวมถึงการการทำ Flea combing, การตรวจช่องหูด้วยเครื่อง Otoscope เเม้ผู้ปกครองไม่ได้เเจ้งว่าสุนัขมีอาการคันหู เเต่สุนัขที่เป็นโรคภูมิเเพ้สามารถเกิด Otitis externa ได้ถึง 50% หากตรวจพบควรทำการรักษา นอกจากนี้ควรตรวจผิวหนังที่บริเวณ อุ้งเท้า เล็บ ผิวหนังรอบๆ ทวารหนัก รักแร้ ขาหนีบ เเละบริเวณรอยพับด้วย


หลังจากตรวจร่างกายเสร็จเเล้ว ควรทำการตรวจดังนี้

- ตรวจเซลล์ผิวหนัง เเละช่องหู

- Skin scraping ทั้งแบบ Deep เเละSuperficial เพื่อตรวจหาไร Demodex, Sarcoptes

- Dermatophyte test medium (DTM) ขึ้นอยู่กับประวัติ เเละอาการ


Step3 : การรักษาอาการคัน


อาการคันที่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ
อาการคันที่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ

การควบคุมอาการคันหรือลดอาการคันเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีต่อทั้งตัวสุนัขและผู้ปกครองโดยยาที่พิจารณานำมาใช้ได้แก่

- ยาลดคัน เช่น Glucocorticoids, Oclacitinib, Lokivetmab

- Topical therapy

(Table 1)

ซึ่งการรักษาอาการคันอาจจะไม่ได้ผลหากมีการติดเชื้อแทรกซ้อน ดังนั้นควรวินิจฉัย เเละรักษาการติดเชื้อก่อนประเมินผลของการรักษาอาการคัน



Step4 : การรักษาการติดเชื้อแทรกซ้อนและการติดปรสิตภายนอก


การติดเชื้อแบคทีเรีย เเละยีสต์ (Malassezia) ควรที่จะรักษาควบคู่ไปกับการรักษาการคันและการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ นอกจากนี้ ยังต้องป้องกันปรสิตภายนอกเป็นประจำ โดยเเนะนำให้ใช้ Isoxazoline เเบบกิน เพราะนอกจากสามารถให้ผลด้านป้องกันปรสิตภายนอกเเล้วยังสามารถให้สุนัขอาบน้ำได้ตามปกติ


Step5 : การติดตามผลและประเมินการตอบสนองต่อการรักษา


ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญ โดยควรประเมินการตอบสนองต่อการรักษาหลังจากให้ยาไปเเล้ว 14 วัน ซึ่งหากมีการจ่ายยาหลายชนิดควรหยุดยาทีละตัว เพื่อให้ทราบว่ายาตัวใดมีผลต่ออาการคัน และไม่ควรหยุดยาปฏิชีวนะ กับยาลดคันพร้อมกัน เพราะทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอาการคันของสัตว์เกิดจากการติดเชื้อหรือคันจากภูมิแพ้


A) ถ้าหากสุนัขตอบสนองต่อการรักษา หลังจากหยุดยาลดคันเเล้ว อาจจะวินิจฉัยได้ 3 อย่าง ได้แก่

1) หายจากการติดปรสิตภายนอกแล้ว

2) หายจากการติดเชื้อแทรกซ้อนเล้ว

3) Seasonal atopy


B) หากมีการติดเชื้อแทรกซ้อน (Secondary infection) อาจจะเป็นสาเหตุของการคันได้ดังนั้นควร คำนึงถึงสาเหตุหลัก ได้แก่

1) ปรสิตภายนอก

2) Seasonal atopy

3) Endocrinopathy : หากมีอาการทางคลินิกร่วมด้วยเเละมักไม่ทำให้เกิดอาการคันโดยตรง มักคันจากการติดเชื้อแทรกซ้อน


Step ถัดไป

1. ป้องกันปรสิตภายนอกต่อเนื่อง

2. หากมีการติดเชื้อให้ยาปฏิชีวนะต่อไปอีก 7 วันหลังจากอาการและผล Cytology ดีขึ้น

3. หากประวัติของสุนัขสอดคล้องกับ Seasonal atopy ให้จัดการตามแนวทางต่อไป

4. หากประวัติของสุนัขสอดคล้องกับ Endocrinopathy ให้วินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป

5. หากไม่มีประวัติโรคผิวหนังหรือความผิดปกติเกี่ยวกับช่องหูมาก่อน หรือประวัติไม่แน่ชัด ให้สังเกตการกลับมาเป็นซ้ำ และแจ้งเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ในอนาคต


C) หากสุนัขตอบสนองต่อยาลดคันเพียงบางส่วนหรือไม่ตอบสนองเลย

1) ตรวจ Cytology ซ้ำ

2) ถ้าพบการติดเชื้อแบคทีเรียและมีการใช้ยาปฏิชีวนะ (Systemic antibiotic) อยู่

a) เพาะเชื้อแบคทีเรียแบบใช้ออกซิเจน (Aerobic bacteria) และให้งดการใช้ยาปฏิชีวนะจนกว่าผลจะออก

b) ไม่แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดที่สองโดยไม่มีผลเพาะเชื้อเนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงในการดื้อยา

c) หากจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะชนิดที่สองควรใช้ยาคนละกลุ่มกัน


3) คุยกับผู้ปกครองว่าสามารถเพิ่มความถี่ในการใช้ยาฆ่าเชื้อชนิดเฉพาะที่ (Topical antimicrobial treatment)ได้หรือไม่ เนื่องจากการใช้ยาฆ่าเชื้อชนิดเฉพาะที่ นั้นช่วยลดความจำเป็นในการใช้ Systemic antibiotic ได้

4) หากพบยีสต์ Malassezia จากการทำ Cytologyที่รอยโรคเเล้ว อาจจะเริ่มการรักษาโดยใช้ Topical / Systemic ขึ้นกับดุลยพินิจของคุณหมอ เเต่จำนวนของ Malassezia นั้นไม่ได้สัมพันธ์กับความรุนแรงของรอยโรค การจัดการยีสต์นี้ เป็นเรื่องที่สำคัญโดยเฉพาะกับ สุนัขที่แพ้เชื้อนี้ ซึ่งสามารถทำให้อาการแย่ลงได้

5) หากรอยโรคหรือการติดเชื้อหายไปแล้ว แต่ยังมีอาการคันอยู่ สุนัขอาจจะเป็น Food allergy หรือ Atopy ก็ได้

a) การรักษาโรคภูมิแพ้ นั้นต้องปรับแผนการรักษาให้เหมาะกับสุนัขตัวนั้นๆ เเละผู้ปกครอง

b) โดยปกติเเล้วนั้น Food allergy มักจะตอบสนองต่อการใช้ยาสเตียรอยด์น้อยกว่า Atopy

c) หากไม่สามารถทำการทดสอบการแพ้อาหารได้ (Diet trial) ควรรักษาตาม อาการสำหรับ Atopy และควรประเมินผลการรักษา


ในสัปดาห์หน้าเราจะมาคุยกันถึง Step ที่ 6 คือการทดสอบอาหาร (Diet trial) กันครับโปรดติดตามใน ep.3


Reference

American Animal Hospital Association. 2023 AAHA Management of Allergic Skin Diseases Guidelines. Lakewood (CO): AAHA; 2023.


 




 
 
 

Comments


bottom of page