โรคภูมิแพ้อาหาร (Food Allergy) ในสุนัขและแนวทางการวินิจฉัย Ep.3 Ep.สุดท้าย
- Monthinee Jongjesdakul
- Apr 15
- 2 min read
เราจะคุยกันต่อในเรื่องของการทดสอบอาหารที่เรียกว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาวหมอผิวหนัง โดยในบทความนี้ผมได้รวบรวมข้อมูล เทคนิคที่ผมใช้ และ ข้อควรระวังในการทดสอบอาหารมาฝากครับ
Step 6 : การทดสอบอาหาร

จากที่ได้กล่าวไปใน Ep.1 ครับว่าทั้งAtopy และ Food allergy มีการแสดงอาการที่เหมือนกัน ยกเว้นหากสุนัขมีอาการคันเป็น Season จริงๆ ซึ่งสัมพันธ์กับการเป็น Atopy , การพบอาการทางระบบทางเดินอาหารมักพบได้มากกว่าในสัตว์ที่แพ้อาหาร และ มีความเป็นไปได้ว่าอาการคันที่ตอบสนองต่อยาสเตียรอยด์ได้น้อยกว่าในสุนัขที่แพ้อาหาร ซึ่งทำให้การแยกโรคทั้งสองนั้นทำได้ยากดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการทดสอบนี้ คุณหมออาจจะสงสัยว่าไม่มีวิธีทดสอบที่ง่ายกว่านี้เหรอ? เช่น การตรวจSerum , ตรวจน้ำลาย หรือการตรวจขน จาก 2023 AAHA นั้นบอกว่าไม่มีประโยชน์ในการวินิจฉัยหรือการจัดการโรคดังกล่าว ดังนั้นปัจจุบัน วิธีการทดสอบอาหารนั้นเป็นเพียงวิธีเดียวที่สามารถใช้ระบุว่าสัตว์เป็น Food allergyหรือไม่
การทดสอบจะใช้เวลา 4-12 สัปดาห์ โดยหากสัตว์สามารถตอบสนองได้ดีในช่วงทดสอบ คือไม่พบอาการคัน แดงหรือรอยโรคที่ผิวหนัง ควรมีการทำ Food challenge (การเอาอาหารเดิมกลับมาให้กิน) เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็น Food allergy จริงๆ
สุนัขที่แพ้อาหารจำนวนหนึ่งมีการตอบสนองต่ออาหารที่ใช้ทดสอบ ภายใน30 วันเเต่ มากกว่า90% นั้น ต้องใช้เวลา ถึง 8 สัปดาห์ถึงจะสามารถวินิจฉัยได้ เเต่ก็มีอีกส่วนที่ต้องใช้เวลาถึง12 สัปดาห์เพื่อให้อาการคันหายไป ดังนั้นส่วนตัวแล้วผมแนะนำให้ระยะเวลาในการทดสอบอาหารอยู่ที่ 8-12 สัปดาห์ ซึ่งช่วงแรกของการทดสอบสามารถยังคงให้ยาลดคันก่อนได้ โดยยาที่แนะนำและเหมาะสมคือ Glucocorticoids และ Oclacitinib
อาหารที่ใช้ในการทดสอบ: Hydrolyzed vs Novel Protein
ตัวเลือกของอาหารที่ใช้ทดสอบมีอยู่2แบบ คือ Hydrolyzed protein หรืออาหารสูตรที่ใช้ในการทดสอบอาหารที่มีขายอยู่ในท้องตลาด และ Novel protein หรืออาหารที่มีโปรตีนที่สัตว์ไม่เคยได้รับมาก่อน อาจจะมีในรูปแบบของอาหารที่ขายตามร้าน (ควรคำนึงถึงโอกาสในการปนเปื้อนโปรตีนชนิดอื่นที่ระบุและไม่ได้ระบุในฉลาก) หรือเเบบที่ผู้ปกครองซื้อเนื้อมาปรุงเอง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วทำได้ยากเพราะต้นทุนทั้งด้านราคาและเวลานั้นสูง ดังนั้น ผมมักจะแนะนำผู้ปกครองสัตว์ให้เลือกซื้ออาหารสูตร Hydrolyzed protein ที่เป็นสูตรเฉพาะจากสัตวแพทย์ ที่มีขายอยู่ในท้องตลาดมากกว่าเพื่อความสะดวกและความมั่นใจในผลการทดสอบ
ข้อควรระวังระหว่างการทดสอบอาหาร
ในระหว่างการทดสอบอาหารควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ปรสิตภายนอกและพยาธิหนอนหัวใจแบบกินและควรพิจจารณาใช้ยาป้องกันปรสิตภายนอกในรูปแบบหยดหลังคอ หรือ แบบหยดหลังคอที่สามารถออกฤทธิ์ได้ยาวนาน ตั้งเเต่ก่อนการทดสอบอาหารแทน ในส่วนของการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ ให้ใช้แบบหยดหลังหรือแบบฉีดแทน นอกจากนี้สิ่งที่ต้องเน้นย้ำกับผู้ปกครองเลยคือ สิ่งที่สามารถผ่านเข้าปากได้นั้นมีแค่อาหารทดสอบและน้ำเปล่าเท่านั้น ห้ามให้อาหารอื่นๆนอกจากนี้ และควรระวังมูลสัตว์ตัวอื่นๆ หรือการใช้ชามน้ำร่วมกับสัตว์ตัวอื่นๆด้วย
ขั้นตอนสุดท้ายของการทดสอบอาหารคือ การทำ Food challenge คือการให้กลับไปกินอาหารเดิมอีกครั้ง ถือเป็นขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อใช้ในการยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพ้อาหารจริงๆ หากไม่มีการทดสอบนี้อาจจะเกิดการวินิจฉัยที่ผิดพลาด ทำให้ผู้ปกครองสัตว์เสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการกินอาหารรักษา หรือ ปัญหาผิวหนังของตัวสัตว์ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เพราะสัตว์เป็น Seasonal Atopy และไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
การประเมินผลลัพธ์ของการทดสอบ
ในส่วนของการประเมิน จากแผนภาพในep.2 นั้นแสดงให้เห็นถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้นได้3แบบ
ตอบสนองโดยสมบูรณ์ คือ ไม่มีอาการคันหรือรอยโรคผิวหนังเลยขณะที่กินอาหารทดสอบ เเต่กลับมาคันเมื่อทำ Food challenge สามารถสรุปได้ว่าเป็น Food allergy และให้กินอาหารHypoallergenic diet ต่อ
ตอบสนองบางส่วน สรุปได้ว่าเป็น Food allergy ร่วมกับ Atopy ให้ดำเนินการทดสอบอาหารต่อไปคู่กับการรักษา Atopy ไม่ตอบสนองเลย รักษาแนวทางAtopy และตรวจผิวหนังเพิ่มเติม โดยการที่เราจะวินิจฉัยว่าสุนัขเป็น Atopy ได้จะต้องตัดสาเหตุจากโรคผิวหนังอื่นๆไปก่อน และได้รับการป้องกันปรสิตภายนอกอย่างเหมาะสมและไม่มีการวินิจฉัยว่าสุนัขแพ้อาหาร จึงจะยืนยันได้ว่าสุนัขตัวนั้นเป็น Atopy จริงๆ
แต่โดยส่วนตัวแล้วผมจะมองการทดสอบอาหารเป็น 4 Phase เพื่อความง่ายในการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองสัตว์ โดย2 Phaseแรกจะมีความเหมือนกับ 2023 AAHA และเพิ่มเติมใน 2Phase ท้าย (แผนภาพ1)

เทคนิค 4 Phase ในการทดสอบอาหาร

Phase 1 : Eliminate
ดังที่กล่าวไปข้างต้น คือการให้สุนัขทานอาหารทดสอบไม่ว่าจะเป็น Hydrolyzed protein หรือ Novel Protein ใช้เวลา 8-12 สัปดาห์
Phase 2 : Challenge
เช่นเดียวกับข้างต้น คือการให้สุนัขกลับมากินอาหารเดิมที่เคยได้รับโดยจะพบ อาการทางระบบทางเดินอาหารอาจจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่วันหลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้แต่อาการทางผิวหนังยังไม่มีการระบุแน่ชัดโดยอาจจะแสดงอาการได้ตั้งแต่ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังได้รับจนถึง 21วัน ซึ่งจุดสิ้นสุดของ Phase คือสุนัขมีอาการคันกลับมา
Phase 3 : Confirm
คือ การกลับมาให้กินอาหารทดสอบอีกครั้งเพื่อเป็นการยืนยันว่าสุนัขนั้นแพ้อาหารเดิมที่เคยกินจริงๆ โดยให้กิน 1-2 สัปดาห์ แต่บางตัวอาจจะต้องให้กินถึง4 สัปดาห์ โดยจุดสิ้นสุดของ Phase คือสุนัขอาการดีขึ้นหรือหายเป็นปกติ ซึ่งผู้ปกครองสามารถหยุดการทดสอบอาหารที่Phaseนี้ได้ และสามารถให้กินอาหารทดสอบต่อไปได้หากโภชนาการอาหารนั้นครบถ้วนเหมาะสมกับสุนัขตัวนั้นๆ แต่จะไม่ทราบว่าสุนัขแพ้โปรตีนอะไร สามารถกินอะไรได้นอกจากนี้ โดยมีงานวิจัยรายงานว่า สุนัขมีการตอบสนองต่อโปรตีน 2.4 ชนิด กล่าวคือ สุนัขส่วนใหญ่ไม่ได้แพ้โปรตีนแค่1ชนิดแต่สามารถตอบสนองต่อโปรตีนหลายชนิดพร้อมกัน และ 80% ของสุนัขมีการตอบสนองต่อโปรตีน 1-2 ชนิด และ มีสุนัข 64% ที่ตอบสนองต่อโปรตีน 2 ชนิดขึ้นไป
Phase 4 : Identify
ทำโดยการให้กินอาหารทดสอบต่อไปและเติมส่วนผสมทีละชนิด โดยยึดจากส่วนผสมที่สุนัขตัวนั้นแพ้ใน Phase 2 แต่หากไม่ทราบประวัติแน่ชัดให้เริ่มจากโปรตีนที่สุนัขแพ้ได้บ่อย เช่น เนื้อไก่ เป็นต้น โดยให้ปริมาณน้อยกว่า 10%ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน นาน 2 สัปดาห์ หากสุนัขมีการแสดงอาการ แสดงว่าสุนัขแพ้โปรตีนนั้นๆ หลังจากจบการทดสอบโปรตีนชนิดที่1ให้กลับไปทำ Phase 3 แล้วจึงเริ่มทดสอบโปรตีนชนิดถัดไป
จบแล้วนะครับสำหรับแนวทางการวินิจฉัยแยกโรค Food allergy และ Atopy หวังว่าคุณหมอจะได้รับความรู้เพิ่มเติมในการวินิจฉัยนะครับ หากมีข้อผิดพลาดหรือข้อเสนอแนะสามารถ ติดต่อได้ที่เพจ : โรงพยาบาลสัตว์ยูเว็ท 24 ชั่วโมง uvet animal hospital 24 hrs
Reference
American Animal Hospital Association. 2023 AAHA Management of Allergic Skin Diseases Guidelines. Lakewood (CO): AAHA; 2023.
Gaschen FP, Merchant SR. Adverse reactions to food in dogs and cats. Vet Clin North Am Small Anim Pract. 2011;41(2):361–379. doi:10.1016/j.cvsm.2011.02.005.
Today’s Veterinary Practice. Performing a diet trial to identify food allergies in dogs and cats [Internet].** [Accessed 14 Apr 2025].** Available from: https://todaysveterinarypractice.com/nutrition/diet-trial-to-identify-food-allergies-in-dogs-and-cats/**
Comments